ชุมชนพึ่งพาตนเอง
1. ชุมชนพึ่งตนเอง สามารถวัดได้จากขีดความสามารถอย่างน้อย 4 ประเด็น คือ
1. เป็นชุมชนเรียนรู้ด้วยตนเองและมีจิตใจที่พร้อมที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตัวเอง
2. เป็นชุมชนรู้จักคิดและตัดสินใจได้อย่างอิสระ ไม่ใช่พึ่งข้อมูล ความเห็น คำแนะนำจากคนอื่นอย่างเดียว
3. เป็นชุมชนที่จัดการ ‘ทุน’ ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เป็นชุมชนที่มี “ธรรมาภิบาล” ( good governance ) ชุมชนมีสำนึกในกระบวนการตัดสินใจ การบริหารจัดการโปร่งใส กระจายอำนาจตรวจสอบได้ (เสรี พงศ์พิศ 2549 : 124)
2. 3 กรณีตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดและแนวปฏิบัติของชุมชนพึ่งตนเองได้
มี 3 กรณีตัวอย่างที่ขอนำเสนอที่นี้เพื่อสะท้อนแนวคิดและแนวปฏิบัติของชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์พัฒนาที่แตกต่างไปจากของรัฐ คือ กรณีผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม กรณีเครือข่ายอินแปง และกรณีไม้เรียง
3 กรณีเป็นที่มาอย่างสำคัญของกระบวนการพัฒนาใหม่ที่เรียกกันว่า “การทำประชาพิจัย” หรือชื่อเต็มว่า “การทำประชาพิจัยและพัฒนา” (People Research and Development : PR&D) ซึ่ง กลายเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็ง (community empowerment) เพื่อให้ชุมชนวางแผน จัดระเบียบและจัดการชีวิตของตนเอง
1. ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหิน ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาและครอบครัวคิดหาวิธีทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยการพลิกฟื้นผืนดิน 9 ไร่เศษให้เป็นป่าและพึ่งพาตนเองได้ หลังจากขายที่ 200 ไร่เพื่อใช้หนี้ การเรียนรู้และการจัดการชีวิตของตนเองใหม่โดยการเริ่มเอา “การเรียนรู้เป็นวิธีการ เอาการพึ่งตนเองเป็นเป้าหมาย” “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ซึ่งเป็นแนวคิดการทำ “วนเกษตร” ของผู้ใหญ่วิบูลย์ ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เริ่มจาก ”จิตสำนึก” ใหม่ ที่ตั้งอยู่บน “กระบวนทัศน์ใหม่” ทำเพื่อ “พึ่งตนเอง” ไม่ใช่ทำเพื่อตลาดเป็นอันดับแรกจะเป็นไปพร้อมกับการได้ความเชื่อมั่นคืนมา
ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้อธิบายถึงการพึ่งตนเองไว้ว่า “การพึ่งตนเองเป็นสภาวะอิสระ หมายถึงความสามารถของคนที่จะช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้สรุปแผนการเรียนรู้และการจัดการไว้เป็นสูตร “353” ดังนี้
เรียนรู้ 3 อย่าง คือ รู้จักตัวเอง รู้ปัญหา รู้ทรัพยากร
จัดการ 5 อย่าง คือ ข้าว อาหาร สมุนไพร ของใช้ ปุ๋ย
แผน 3 แผน คือ แผนชีวิต แผนชุมชน แผนทรัพยากร
2. อินแปง
อินแปงเป็นชื่อของเครือข่ายองค์กรชุมชน เริ่มต้นรอบตีนเขาภูพานที่จังหวัดสกลนคร ก่อนจะขยายไปสู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภออื่น ๆ ในสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง เริ่มจากชาวบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนครได้กลับไปหาอดีตเพื่อค้นหาสาเหตุที่มาของปัญหาวันนี้ทำให้ชุมชนมองเห็นทางออกในเวลาเดียวกัน ปัญหามาทางไหน ทางแก้ก็ต้องมาทางเดียวกัน คือ “ย้อนรอย” ปัญหานั่นเอง
นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งเรียกว่า “การวิจัยตนเอง” พวกเขาเริ่มสืบค้นหาภูมิปัญญาดั้งเดิม และพบว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาก็ต้องกลับไปหาบรรพบุรุษ
ประสบการณ์ของ “อินแปง” และเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำ “ประชาพิจัย” เนื่องจากได้เห็น “พลัง” ของข้อมูลการสืบประวัติวิวัฒนาการของชุมชน ดังกรณีการบริโภคน้ำอัดลมในตำบลกุดบาก 800,000 กว่าบาทต่อปี ทำให้ชาวอินแปงหันมาทำน้ำผลไม้บริโภคเอง หันมาผลิตเพื่อบริโภคให้มากขึ้น ก็จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และทำให้สุขภาพดีอีกด้วย จนทำให้ชาวอินแปงได้ทำน้ำผลไม้บริโภคเองจนแพร่หลายออกไปสู่ตลาดกว้างโดยไม่ได้ตั้งใจ และเป็นรายได้จำนวนไม่น้อยให้ชุมชน
กรณีอินแปงแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากพวกเขาได้เรียนรู้ ได้วิจัย และได้สืบค้นรากเหง้าและวัฒนธรรมของตน พวกเขาจะเกิดความภูมิใจและเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และได้พบพลังอำนาจของข้อมูลในการกำหนดชีวิตของตนเอง
การทำมาหากินแบบพอเพียง พึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ฟื้นธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ ทำให้อินแปงสรุปว่าวันนี้พวกเขา “อยู่อย่างมีศักดิ์และมีกินตลอดชีวิต” โดยมีตัวชี้วัดที่พวกเขาได้สรุปเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น